Q1.1: ที่มาของการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
A1.1: กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” เป็นนโยบายที่สําคัญของรัฐบาล โดยกําหนดเป็นวาระเร่งด่วน ที่กำหนดดําเนินการปี ๒๕๕๕ สําหรับเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ในการพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อการพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ และสวัสดิการให้แก่สตรี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การพัฒนาบทบาทสตรี การสร้างภาวะผู้นํา และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งเน้นที่จะทํางานร่วมกับองค์กรสตรีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้โอกาสสตรีในทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทํา ร่วมพัฒนา เพื่อสตรีทุกคน โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรสตรีต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้สตรีไทยได้ใช้ประโยชน์จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
Q1.2: วัตถุประสงค์การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
A1.2: มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ในการสร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการลงทุน เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างหรือสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการให้แก่สตรี
2) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาของสตรี ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหาในทุกรูปแบบ การรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี
3) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรี การแก้ไขปัญหาสตรีขององค์กรต่างๆ การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมของสตรี
4) เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสตรีตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
Q1.3: แหล่งเงินทุน
A1.3: เงินและทรัพย์สินของกองทุน
1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
3) เงินสนับสนุนอื่นๆ ที่รัฐบาลจัดสรรให้เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
4) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
5) เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
6) ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
7) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือกองทุนได้รับตามกฎหมายอื่น
การใช้จ่ายเงินกองทุน
1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหรือแหล่งเงินตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
2) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารกองทุน
3) การบริหารงบประมาณแบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียน (กู้ยืม) ร้อยละ 80 และเงินอุดหนุนโครงการ/กิจกรรม ร้อยละ 20 ของเงินทุนที่ได้รับการจัดสรร แต่ทั้งนี้ งบบริหารตามแผนการบริหารและการจัดการทองทุน ไม่เกินร้อยละ 3 ของส่วนที่เป็นเงินอุดหนุน
Q1.4: ประเภทสมาชิก
A1.4: สมาชิกมี 2 ประเภท ดังนี้
1) สมาชิกประเภทบุคคลธรรมดา ได้แก่
1.1) สตรีผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ
1.2) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ
1.3) เป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียบบ้าน
1.4) อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ขอขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่า 6 เดือน และ
1.5 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
2) สมาชิกประเภทองค์กรสตรี ได้แก่
2.1) มูลนิธิหรือสมาคม ที่ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหรือจังหวัดที่ขอขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่า 6 เดือน มีการดำเนินงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความรับผิดชอบ เสียสละ หรือมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคมเกี่ยวกับการทำงาน การฝึกอาชีพ การพัฒนาช่วยเหลือ หรือการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี
2.2) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฯ ประเภทองค์กร
Q1.5: การขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก
A1.5: 1) สมัครสมาชิก Online ได้ที่ Website http://164.115.23.70/Register/register.php
2) สมัครด้วยตนเอง พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุกอำเภอ ในพื้นที่ของผู้สมัคร
Q1.6: โครงสร้างคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
A1.6:
1) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกส.จ.)
คกส.จ. ประกอบด้วย คกส.ต. ในแต่ละตำบลของแต่ละอำเภอ คัดเลือกกันเองให้เหลืออำเภอละ 1 คน เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
อำนาจหน้าที่
(1) บริหารกองทุน รวมทั้งตรวจสอบ กำกับดูแล และจัดสรรรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนในเขตพื้นที่จังหวัด
(2) จัดหาสถานที่ทำงานของบุคลากรและ คกส.จ.
(3) จัดหาทุนหรือรายได้เข้ากองทุนในเขตพื้นที่จังหวัด
(4) พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนให้ คกส.ต. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
(5) พิจารณาและอนุมัติจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนโครงการของสมาชิกที่ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนในเขตพื้นที่จังหวัด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(6) จัดทำบัญชีของกองทุนในเขตพื้นที่จังหวัด ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
(7) สำรวจและจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนสมาชิก รวมทั้งโครงการที่ได้ยื่นคำขอกู้ยืมจากกองทุนในเขตพื้นที่จังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
(8) รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งรายงานการเงินของกองทุนในเขตพื้นที่จังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
(9) ประสานและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
(10) แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คกส.ต. และคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติงานอย่างหนึ่งอย่างใด ที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
2) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกรุงเทพมหานคร (คกส.กทม.)
คกส.กทม. ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกใน กทม.สมัครเข้าเป็นกรรมการกองทุนและเลือกตั้งกันให้เหลือจำนวน 12 คน เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษา คกส.กทม. โดยตำแหน่ง
อำนาจหน้าที่
(1) บริหารกองทุน รวมทั้งตรวจสอบ กำกับดูแล และจัดสรรรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
(2) จัดหาสถานที่ทำงานของบุคลากรและ คกส.กทม.
(3) จัดหาทุนหรือรายได้เข้ากองทุนในเขตพื้นที่ กทม.
(4) พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนให้สมาชิกตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
(5) พิจารณาและอนุมัติจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนโครงการของสมาชิกที่ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนในเขตพื้นที่ กทม.ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(6) จัดทำบัญชีของกองทุนในเขตพื้นที่ กทม. ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
(7) สำรวจและจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนสมาชิก รวมทั้งโครงการที่ได้ยื่นคำขอกู้ยืมจากกองทุนในเขตพื้นที่ กทม. เสนอต่อคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
(8) รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งรายงานการเงินของกองทุนในเขตพื้นที่ กทม. เสนอต่อคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานจังหวัด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
(9) ประสานและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
(10) แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คกส.ต. และคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติงานอย่างหนึ่งอย่างใด ที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
3) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล (คกส.ต.)
3.1) ผู้แทนสมาชิกกองทุนฯ ในแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชนคัดเลือกกันเอง แห่งละ 1 คน
3.2) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน คณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกส.จ.) แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสตรี
3.3) ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล (คกส.ต.) แต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกส.จ.)
อำนาจหน้าที่
(1) บริหารกองทุน รวมทั้งตรวจสอบ กำกับดูแล และจัดสรรรายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนในเขตท้องที่ตำบล
(2) จัดหาสถานที่ทำงานของบุคลากรและคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล (คกส.ต.)
(3) จัดหาทุนหรือรายได้เข้ากองทุน
(4) พิจารณาโครงการของสมาชิกที่ยื่นขอกู้ยืมเงิน หรือขอรับการสนับสนุนจากกองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
(5) สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนสมาชิก โครงการที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนในตำบล เสนอต่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกส.จ.) เพื่อพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
(6) รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรค รวมทั้งรายงานการเงินของกองทุนในเขตท้องที่ตำบล เสนอต่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด (คกส.จ.) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4) กรรมการทุกคณะ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี
5) การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
กรมการพัฒนาชุมชน ชั้น ๓ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
งานยุทธศาสตร์และแผนงาน 02-1413092 งานอำนวยการ/บุคคล 02-1413088 งานการเงินและบัญชี 02-1413077 งานกฏหมาย 02-1413056 งานเครือข่ายสัมพันธ์ 02-1413095 งานพัฒนาระบบเทคโนโลยี 02-1416537
สำนักงานเลขานุการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกรุงเทพมหานคร 02-1413096 | This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ดำเนินการโดย สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน |